“Reused Oil” หรือที่ผู้จำหน่ายเชื้อเพลิงให้โรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่นิยมเรียกเป็นภาษาไทยว่า “น้ำมันเตาทดแทน” เป็นน้ำมันที่เริ่มมีบทบาทและมีการพูดถึงกันมากขึ้น เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาราคา “น้ำมันเตา” มีการปรับตัวสูงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมหลายๆ แห่ง ทำให้หลายโรงงานเริ่มมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้เชื้อเพลิงจากเชื้อเพลิงเหลวไปเป็นเชื้อเพลิงแข็งมากขึ้น ดังนั้น ผู้จำหน่ายเชื้อเพลิงเหลวจึงเริ่มมองหาเชื้อเพลิงเหลวชนิดใหม่ๆ มานำเสนอให้กับลูกค้าเพื่อเป็นทางเลือก และมีราคาที่ถูกกว่า นั่นจึงเป็นต้นกำเนิดของ “น้ำมันเตาทดแทน” (Reused Oil)

แล้วน้ำมันทดแทนได้มาอย่างไร?

สำหรับน้ำมันเตาทดแทนนั้นจะได้มาจาก 2 ส่วน คือ (1) น้ำมันหล่อลื่นของรถยนต์ อย่างน้ำมันเครื่องหรือน้ำมันเกียร์ของรถยนต์ที่เราใช้รถกันอยู่ทั่วไป ซึ่งในรอบ 1 ปี เรามีการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันดังกล่าวเฉลี่ยกันประมาณ 30 ลิตรต่อคันต่อปี หากอยากรู้ว่าปริมาณเยอะแค่ไหน ก็ลองคูณจำนวนรถยนต์ในประเทศไทยดูแล้วกัน และ (2) น้ำมันที่ได้จากภาคอุตสาหกรรม อย่างโรงงานอุตสาหกรรมที่มีเป็นกระบุงโกยกันเลยทีเดียว ซึ่งของเหลือเหล่านี้หากจะนำไปกำจัดทิ้ง ก็ต้องมีค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังสร้างมลภาวะโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ อีกด้วย
 

โรงงานในยุคแรกๆ ที่นิยมของราคาถูก ได้มีการนำน้ำมันที่เหลือใช้เหล่านี้กลับมาใช้ซ้ำอีกครั้ง ซึ่งก็เป็นการนำเอามาใช้เลยโดยตรงแบบสุกเอาเผากิน ปัญหาจึงเกิดตามมา ทั้งประสิทธิภาพและคุณภาพของการใช้งานที่ค่อนข้างต่ำ รวมไปถึงยังสร้างมลภาวะจนถูกร้องเรียนไปตามๆ กัน ความนิยมจึงมีแค่เฉพาะในกลุ่มโรงงานเถ้าแก่ขนาดเล็กๆ เท่านั้น…
 กระบวนการสำคัญของการผลิตน้ำมันทดแทนคือการคัดแยกเบื้องต้น ทั้งน้ำมันเครื่อง น้ำมันเกียร์ น้ำมันเบรค น้ำมันไฮดรอลิกส์ น้ำมันสื่อความร้อน (Heat Transfer) เป็นต้น เพราะน้ำมันแต่ละประเภทมีคุณสมบัติและข้อจำกัดทางเคมีที่แตกต่างกัน เพื่อประโยชน์การใช้งานที่แตกต่างกัน จึงต้องมีการปรับใช้เพื่อเป็นเชื้อเพลิงที่แตกต่างกันด้วย ทั้งนี้ ก็เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาด้านมลภาวะและประสิทธิภาพในการใช้งาน

เมื่อกระบวนการคัดแยกเสร็จสิ้น การปรับปรุงคุณภาพก็เกิดขึ้น ซึ่งจะประกอบด้วยกระบวนการ 5 ขั้นตอน ดังนี้
 
1. การกรองด้วยฟิลเตอร์ (Filter) ที่มีรูตาข่ายขนาดเล็กและละเอียด อาจจะละเอียดสูงถึง Mesh 100 (ขนาด 63 ไมครอน ผ่านได้) หรือมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับผู้ผลิตแต่ละราย ซึ่งอาจจะมีการทำซ้ำในเกือบๆ ทุกกระบวนการผลิต
 
2. การดักจับเศษโลหะที่ติดมากับเนื้อน้ำมัน ด้วยระบบ Magnetic ทั้งแบบ Permanence และ Temporary ซึ่งจะทำซ้ำในกระบวนการอื่นเช่นกัน
 
3. ขั้นตอนการไล่ความชื้นหรือน้ำที่ปะปนมากับน้ำมัน ด้วยการเพิ่มอุณหภูมิให้กับน้ำมันจนได้ระดับ 120-140 องศาเซลเซียส เพื่อทำให้น้ำและน้ำมันแยกตัวออกจากกัน ด้วยจุดเดือดของน้ำที่ 102 องศาเซลเซียสโดยประมาณ
 
4. การลดอุณหภูมิของน้ำมันลงก่อนเก็บเข้าพื้นที่จัดเก็บถังเชื้อเพลิง (Tank Farm) ในขั้นตอนนี้น้ำมันจะถูกทำให้เย็นตัวลงอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันการขยายตัวเมื่อถูกบรรจุอยู่ในถังขนาดใหญ่ ซึ่งอาจจะเกิดการระเบิดจากการเกิดสุญญากาศในถังได้
 
5. การปรับปรุงคุณสมบัติเพื่อให้เหมาะกับการใช้งาน กระบวนการนี้ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะน้ำมันเชื้อเพลิงทดแทนจะสามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการนี้ด้วย โดยการผสมจะใช้หลักการเบื้อต้นดังนี้ 
 
(1) การปรับความหนืด-ใส ให้มีความเหมาะสมกับการใช้งาน
(2) การปรับปรุงค่าความร้อนและเคมีทางการเผาไหม้
(3) การปรับปรุงความเป็นกรด-ด่าง
(4) การปรับตามราคาทางการตลาด
 
ในความเป็นจริงแล้วน้ำมันเตาทดแทนส่วนใหญ่มักมีคุณภาพที่ใกล้เคียงหรือดีกว่าน้ำมันเตาปกติ เพราะกระบวนการผลิตและสารประกอบต่างๆ ที่เติมลงในน้ำมันหล่อลื่นเหล่านี้ล้วนต้องผ่านมาตรฐานสากลด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นบริษัทผลิตรถยนต์หรือเครื่องจักรอุตสาหกรรม เพื่อลดมลพิษทางอากาศและความสะดวกในการเผาทำลาย จึงไม่น่าห่วงมากนัก อีกทั้งน้ำมันเหล่านี้ยังถูกผลิตขึ้นมาจากน้ำมันสินแร่ (Mineral base Oil) เช่นเดียวกับน้ำมันเตา ซึ่งสารพิษต่างๆ ที่อาจจะก่อให้เกิดมลพิษก็มีเพียงบางกลุ่มที่เติมลงไปเท่านั้น
 
ที่มา : thewindustry